สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๕๔ ในการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลง ให้ศาลตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มหรือลด ถ้ามีทั้งการเพิ่มและการลดโทษที่จะลง ให้เพิ่มก่อนแล้วจึงลดจากผลที่เพิ่มแล้วนั้น ถ้าส่วนของการเพิ่มเท่ากับหรือมากกว่าส่วนของการลด และศาลเห็นสมควรจะไม่เพิ่มไม่ลดก็ได้

คำพิพากษาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8432/2550 ป.อ. มาตรา 80 วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้ใดพยายามกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" หมายถึง การกำหนดโทษที่จะลงโดยคำนวณโทษจากสองในสามของอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งโทษสองในสามส่วนของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 80 คือโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี 8 เดือน ถึง 13 ปี 4 เดือน หรือจำคุก 33 ปี 4 เดือน ที่ศาลกำหนดโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 8 ปี ก่อนลดโทษให้นั้น จึงเป็นการกำหนดโทษจำคุกในระหว่างโทษขั้นต่ำและขั้นสูงโดยคำนวณโทษจากสองในสามของอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดแล้ว มิใช่กำหนดโทษความผิดสำเร็จ ทั้งกฎหมายก็มิได้บัญญัติให้ศาลกำหนดโทษที่จะลงไว้ก่อนแล้วจึงคำนวณโทษสองในสามส่วนจากโทษที่ได้กำหนดไว้นั้นดังเช่นบัญญัติไว้ตาม ป.อ. มาตรา 54 ซึ่งเป็นเรื่องการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงจากโทษที่ได้กำหนดไว้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2820/2550 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 วรรคแรก, 310 วรรคแรก, 317 วรรคสาม ประกอบมาตรา 92 ฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน การที่ศาลชั้นต้นอ้างบทเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 92 ในคำพิพากษาจึงเป็นกรณีศาลชั้นต้นได้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นไม่ได้ระบุข้อความว่าให้เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามซึ่งเป็นเพียงการไม่สมบูรณ์ชัดเจนเท่านั้น หาทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยเหตุที่ยังมิได้เพิ่มโทษจำเลยดังที่โจทก์ขอมาแต่อย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยอีกจึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดีที่ถูกศาลชั้นต้นต้องกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยในแต่ละฐานความผิดเสียก่อน แล้วจึงเพิ่มโทษจำเลยแต่ละฐานความผิดหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 54

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้เพิ่มเติมโทษจำเลยอีกหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1438/2549 คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาเพียงประการเดียว การกระทำความผิดตามฟ้องของจำเลยเป็นอันยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยที่ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15

การกระทำความผิดของจำเลยต้องตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบมาตรา 285 ซึ่งตามมาตรา 285 เป็นเรื่องที่ต้องวางโทษจำเลยหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 277 วรรคสอง หนึ่งในสาม จึงหาใช้เป็นเรื่องการเพิ่มโทษไม่ กรณีไม่อาจนำ ป.อ. มาตรา 54 มาปรับแก่คดีนี้ได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2076/2545 การเพิ่มโทษอีกหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 นั้น จะต้องกำหนดโทษที่จะลงเสียก่อนแล้วจึงเพิ่มโทษ หลังจากนั้นจึงจะลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54

คดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ พิพากษาเพียงลงโทษปรับสถานเดียว จึงไม่อาจเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ได้ และปัญหานี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีจึงมีผลถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ด้วย

 

 

 

 

บทความที่น่าสนใจ

-การด่าตำรวจจราจรว่ารับสินบนจะมีผิดความหรือไม่

-ด่ากันทางโทรศัพท์

-ส่งมอบโฉนดให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นหลักประกันต่อมาไปแจ้งความว่าโฉนดหายมีความผิดต้องโทษจำคุก

-การปลอมเป็นเอกสารจำเป็นต้องมีเอกสารที่แท้จริงหรือไม

-การลงลายมือแทนกันเป็นความผิดฐานปลอมเอกสาร

-เมื่อครอบครองปรปักษ์ที่ดินแล้ว ต่อมาเกิดที่งอกใครเป็นเจ้าของที่งอกนั้น

-ซื้อที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร แล้วไปซื้อที่ดินข้างนอกที่ติดกับหมู่บ้าน
เพื่อเชื่อมที่ดินดังกล่าวเข้ากับที่ดินในหมู่บ้าน

-ขายฝากที่ดินต่อมาผู้ขายได้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน แต่ไม่ได้ไถ่ภายในกำหนดบ้านเป็นของใคร

-ไม่ได้เข้าร่วมในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม

-ปลูกต้นไม้ในทางสาธารณะสามารถฟ้องให้รื้อถอนออกไปได้

-การทำสัญญายอมในศาลโดยการครอบครองในป่าสงวน

-เจ้าของรวมนำโฉนดที่ดินไปประหนี้เงินกู้ผลเป็นอย่างไร